Tuesday, January 26, 2016

5 เคล็ดลับความสำเร็จในการเขียนบทความ ที่คุณต้องรู้!

ถ้าจะพูดถึงเรื่องของการเขียนบทความให้ดีแล้ว หลายคนคงมีคำถามอยู่ในใจว่า บทความ ที่ดี บทความที่น่าสนใจ มีคนชื่นชอบต้องมีอะไรเป็นส่วนประกอบ หรือเป็นตัวกำหนดว่าดี   เพราะสิ่งเหล่านี้แหละเป็นตัวชี้วัดว่างานเขียนบทความของเราเป็นบทความที่ประสบความ สำเร็จ จากการที่ได้ศึกษาสอบถามผู้รู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาแม้ไม่ได้มากมายอะไรนัก  แต่ก็เพียงพอที่จะตกผลึกมาเป็น เคล็ดลับ 5 ประการสู่ความสำเร็จในการเขียนบทความมาฝากทุกคนกันครับ






1. ชื่อเรื่องไม่ยาวจนเกินไป
คุณเคยเห็นพาดหัวข่าวที่ยาวมากๆ ในหนังสือพิมพ์ของสำนักพิมพ์สมัครเล่นบางฉบับหรือเปล่าครับ พาดหัวข่าว ก็เปรียบเสมือน หัวข้อ Topic หรือ ชื่อเรื่อง หากยาวเกินไปก็จะดูรก ไม่น่าอ่าน บทความด้านในยิ่งไม่ต้องพูดถึง หากหัวเรื่องไม่ผ่านแล้ว ผู้อ่านก็จะหมดความน่าสนใจในตัวบทความทันที เคล็ดลับก็คือ ชื่อเรื่องของ บทความที่ดีนั้นควรจะต้องมีความยาวอยู่ในช่วง 35 - 65 ตัวอักษร เป็นความยาวที่กำลังพอดี ไม่สั้นไม่ยาว เกินไป ยังอยู่ในระยะกวาดสายตาของผู้อ่านที่จะอ่านหัวเรื่องจนจบใน 2 วินาที ก่อนจะตัดสินใจเข้ามาอ่านครับ
2. เขียนให้สอดคล้องกับ Topic
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการเขียนบทความให้ตรงประเด็น หัวข้อ หรือ Topic ที่วางไว้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเขียนบทความ เพราะหัวเรื่อง หรือ Topic นั้น ก็เปรียบเสมือนกับพาดหัวข่าว คนสนใจเข้ามาอ่าน ก็จาก Topic นั้นๆ แต่หากสิ่งที่อยู่ข้างใน ไม่ตรงประเด็น เช่น ข้อความขายของแบบไม่ลืมหูลืมตา ข้อความที่คัดลอก มาอย่าง  สะเปะสะปะไม่มีการเรียบเรียง หรือ พูดออกทะเลไปเรื่อย ออกห่างจากความน่าสนใจ ใน Topic แล้ว ก็คงไม่ใช่บทความที่น่าอ่านเท่าใดนัก และหากปรากฏชื่อผู้แต่งเข้าไปด้วยแล้ว ผู้คนก็จะจำชื่อของคุณไปเลย (ว่าจะไม่อ่าน) วิธีการก็คือ เขียนแผนผัง Mind Mapping ที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องก่อนเริ่มเขียน เขียนการเชื่อมโยงต่างๆกับหัวเรื่อง เมื่อเรามีทิศทางในการเขียนบทความที่ชัดเจน นอกจากจะไม่สับสนเอง บทความของคุณก็จะเป็นบทความที่น่าอ่าน เข้าใจได้ง่ายและตรงประเด็นอีกด้วย
3. มีคำหลัก หรือ Keyword ที่เหมาะสม
การใช้คำหลัก หรือ Keyword ที่เหมาะสมนั้น ไม่ได้มีประโยชน์อยู่เพียงในการทำบทความ SEO เท่านั้น แต่การใช้คำหลักที่เหมาะสมนั้น ทำให้บทความมีตัวกำหนดทิศทาง เวลาอ่านผู้อ่านก็จะรู้สึกว่าอยู่ในเนื้อเรื่อง เวลาเขียนผู้เขียนก็จะไม่งงหลงประเด็น เหตุผลที่ผมใช้คำว่า "ที่เหมาะสม" เพราะถ้ามีมากเกินไป นอกจาก จะไม่มีความน่าสนใจแล้ว ความน่าเชื่อถือในตัวบทความก็จะหมดลงทันที เหมือนกับการขายของแบบไม่มีศิลปะ หรือ หากมีน้อยเกินไป ก็จะไม่มีประโยชน์ กลายเป็นคำธรรมดาในบทความ เหมือนเรือที่ไม่มีใบพาย ก็เลย ไม่ทราบว่า บทความนั้นจะสื่อถึงอะไร เคล็ดลับก็คือ อย่างน้อยที่สุดในบทนำ ควรมีคำหลักสัก 1-2 คำหลักในเนื้อเรื่องควรมี 3-4 คำหลัก และท่อนสรุปควรมีไว้สักคำก็พอ
4. มีสำนวนในเนื้อความ
สำนวนในที่นี่อาจไม่ได้หมายถึง สุภาษิต-คำพังเพย หรือ คำที่พ้องที่คล้องจองเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการใช้คำที่เหมาะสม สละสลวย ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์อีกด้วย เราอาจมีการเปรียบเทียบสิ่งที่คล้าย หรือ
ใกล้เคียงกันกับคำในข้อความ เช่น บ้านหลังใหญ่ราวกับพระราชวัง คนผู้นี้มีจิตใจที่เข้มแข็งดังเพชร ไม่มีที่ไปเหมือนเรือที่ขาดหางเสือ มีการพูดเปรียบเทียบให้เห็นภาพตามได้แม้ไม่มีภาพประกอบ เช่น
"มือของแม่ที่เหี่ยวแห้งดูไร้เรี่ยวแรง สั่นสะท้านไปกับลมหนาวที่พัดเข้ามาในบ้านไม้เก่า พร้อมเสียงเอียดอาดของไม้ผุๆที่พยายามจะต้านแรงลม ในยามดึกสงัดและเหน็บหนาวอย่างคืนนี้" จะทำให้เป็นข้อความที่ชวนอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้อ่านรู้ตัวอีกทีก็อ่านจบไปเสียแล้ว ยิ่งถ้าผู้อ่านจดจำชือผู้เขียนอย่างคุณ เขาก็จะติดตามผลงานการเขียน ของคุณต่อไปเรื่อยๆ นั่นเอง เคล็ดลับคือ อ่านหนังสือในเรื่องที่สนใจ หรือ จะเขียนเยอะๆ ลองหัดใช้คำต่างๆ เขียนลงในบทความของตนเอง แล้วให้ผู้รู้ช่วยกันติชมก็ได้
5. ใช้คำได้อย่างถูกต้อง
เคล็ดลับสุดท้ายนี้ คงหนีไม่พ้นการใช้คำให้ได้ถูกต้อง เหมาะสม กับรูปประโยค หรือ บทความ เพราะ ถ้าชื่อเรื่องน่าอ่าน เนื้อเรื่องดี มีสำนวน เพียงใด หากใช้คำที่ผิดพลาด ไม่เหมาะสม เขียนผิดอันเกิดจากกรณีใดๆ ไม่ว่าจะสะเพร่า หรือ ไม่ทันได้ตรวจทานก็ตาม ผู้อ่านไม่มีทางทราบว่าคุณอยู่ในสถานการณ์ใด สิ่งที่อยู่ต่อหน้า เขาเหล่านั้น คือ ข้อความหรือคำผิด ที่อาจทำให้ความหมายเปลี่ยน หรือ เข้าใจไปในอีกทิศทางหนึ่งทันที ทำให้บทความนั้นๆ รวมถึงตัวผู้เขียนเองหมดความน่าเชื่อถือไปโดยปริยาย แม้ผู้อ่านจะเข้าใจว่าความผิดพลาดอาจเกิด ขึ้นได้ และผู้อ่านที่ดีหลายท่านมักจะมองถึงประโยชน์ของบทความมากกว่ามานั่งจับผิดก็ตามแต่ แต่มันจะดีและ เป็นประโยชน์มากกว่า หากเรามีการใช้คำที่เหมาะสม ถูกต้อง ภาษาไม่วิบัติ (ภาษาอาจมีการลื่นไหลไปตามยุค สมัย บางคำก็เปลี่ยนวิธีการเขียนหรือการออกเสียง ภาษาวิบัติในที่นี่จึงหมายถึงการใช้คำผิดตามภาษาพูดอย่าง เด่นชัด เช่น ไปเป็นปาย เดี๋ยวเป็นเด๋ว)หรือไม่ใช้คำผิด เช่น อยาก-อย่า กับ-กลับ ประโยค-ประโยชน์ เป็นต้นคำทับศัพท์ต่างๆ เช่น Part-time ผิดเป็น Past-time หรือ Pass-time หรือ คำไทยๆ เช่น เครื่องราง ผิดเป็น เครื่องลาง เป็นต้น เคล็ดลับในข้อสุดท้ายนี้ อาจดูธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา เพราะคุณจะไม่สามารถเป็น นักเขียนบทความที่มีความสำเร็จในงานเขียนบทความได้เลย หากยังเขียนผิดๆถูกๆอยู่ ปัญหาเล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่นี้สามารถแก้ได้ด้วยการ ตรวจทานให้ละเอียด มีสติ รอบคอบ และหมั่นสังเกต การใช้คำของบทความมาตรฐานของมืออาชีพครับ
สำหรับ "5 เคล็ดลับความสำเร็จในงานเขียนบทความที่คุณต้องรู้" นั้น พวกเราก็ได้ทราบกันไปทั้ง 5 เคล็ดลับแล้ว ตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่อง การเขียน การใช้คำที่เหมาะสม และ มีสำนวน และหากผู้อ่านใส่ใจและ ตั้งใจใช้ เคล็ดลับทั้ง 5 ประการนี้ ในงานเขียนบทความ ผมรับรองได้เลยว่า ท่านจะต้องเป็นผู้ที่มีความสำเร็จในงานเขียนบทความ มีบทความคุณภาพ มีผู้ติดตามอ่านมากมายอย่างแน่นอน สุดท้ายนี้ ไม่ว่าทักษะในการเขียนของท่านจะอยู่กันในระดับใด อยากให้เปิดใจรับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ คำติ-ชม อย่างใจกว้าง เพราะผมเชื่อว่าวงการนี้ ไม่มีใครเลยที่จะเก่งที่สุด แต่คนที่หมั่นพัฒนาตนเองที่สุดต่างหาก ที่จะมีงานเขียนบทความที่ประสบความสำเร็จได้ครับ
        Runhigh Articles
adsfg

No comments:

Post a Comment